วิธีหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย หรือการทำ Target Audience Analysis จะช่วยให้คุณรู้ว่าลูกค้าที่แท้จริงคือใคร ไม่ทำให้สื่อสารผิดคน ผิดช่องทาง ผิดเวลา และเสียงบประมาณไปแบบฟรี ๆ นอกจากนี้ ยังช่วยให้คุณนำข้อมูลไปพัฒนาปรับปรุงสินค้าให้ตอบโจทย์โดนใจผู้บริโภคได้ดีมากขึ้นด้วย มาดูกันว่า 10 วิธีหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่เราเอามาฝากกันนี้จะมีวิธีไหนกันบ้าง
1. วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าปัจจุบัน
คุณสามารถเริ่มต้นหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจากสิ่งที่มีอยู่อย่างฐานลูกค้าปัจจุบันได้ ลองรวบรวมข้อมูลของลูกค้าปัจจุบันและนำไปวิเคราะห์ เพื่อค้นหาลักษณะร่วมหรือสิ่งที่มีเหมือนกัน เพียงเท่านี้ คุณก็จะมองเห็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้นแล้ว โดยข้อมูลที่คุณควรนำไปพิจารณา ได้แก่ ข้อมูลประชากรศาสตร์ (อายุ เพศ ที่อยู่ การศึกษา รายได้), ความชอบและความสนใจ, พฤติกรรมการซื้อ (ความถี่ในการซื้อ มูลค่าการซื้อเฉลี่ย ช่วงเวลาที่ซื้อ) และช่องทางการติดต่อ (ลูกค้ารู้จักและติดต่อกับธุรกิจของคุณผ่านช่องทางไหน)
2. สร้าง Buyer Persona
การสร้าง Buyer Persona จะทำให้คุณมองเห็นลูกค้าในภาพที่ชัดเจนและมีมิติมากขึ้น (เห็นเป็นคนจริง ๆ ) ที่มีทั้งความต้องการ ปัญหา ความกังวลใจ และแรงจูงใจในการซื้อที่ชัดเจน ซึ่ง Buyer Persona คือตัวแทนของลูกค้าในอุดมคติที่คุณสร้างขึ้นจากข้อมูลจริงและการคาดการณ์นั่นเอง Buyer Persona ที่ดีจะช่วยให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจตรงกันว่ากำลังทำงานเพื่อใคร ทุกอย่างจะสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยองค์ประกอบของ Buyer Persona ที่ดี ควรมีสิ่งเหล่านี้
ข้อมูลส่วนตัว (ชื่อสมมติ อายุ อาชีพ สถานภาพ)
เป้าหมายและความท้าทาย (อะไรที่พวกเขาต้องการบรรลุ และอะไรที่เป็นอุปสรรค)
แรงจูงใจในการซื้อ (ทำไมพวกเขาถึงต้องการสินค้าหรือบริการแบบนี้)
ช่องทางการรับข้อมูล (พวกเขาหาข้อมูลจากที่ไหน)
ข้อกังวลหรือข้อโต้แย้งที่อาจมี (อะไรที่อาจทำให้พวกเขาลังเลที่จะซื้อ)
3. ใช้ Google Analytics 4 (GA4)
Google Analytics 4 คือเครื่องมือวิเคราะห์ผู้เข้าชมเว็บไซต์ฟรี จาก Google ซึ่งคุณสามารถใช้ในการหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ โดยวิเคราะห์จากข้อมูลประชากรและพฤติกรรมการใช้งาน เช่น ดูว่าผู้ใช้มาจากช่องทางไหน เพศอะไร สนใจเนื้อหาอะไร ใช้เวลานานแค่ไหนบนเว็บไซต์ และทำอะไรต่อไปหลังจากเข้าชม ซึ่งเมนู Audience Insights ใน GA4 จะช่วยให้คุณเห็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ Affinity Categories (กลุ่มความสนใจ) และ In-Market Segments (กลุ่มผู้ที่กำลังมองหาสินค้าหรือบริการ) ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการระบุกลุ่มเป้าหมายที่มีความแม่นยำสูง
4. สำรวจ Insight บนโซเชียลมีเดีย
Social Media ยอดนิยม อย่าง Facebook, Instagram, TikTok และ X (Twitter) จะมีเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลมาให้อยู่แล้ว เครื่องมือนี้จะแสดงข้อมูลผู้ติดตามและคนที่มีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาของคุณอย่างละเอียด คุณสามารถเจาะเข้าไปดูข้อมูลทางประชากรศาสตร์ ความสนใจ ช่วงเวลาที่ผู้ติดตามออนไลน์ และประเภทของเนื้อหาที่ได้รับความนิยมสูงสุด พร้อมกับวิเคราะห์โพสต์ที่ได้รับความสนใจสูงที่สุดว่าเพราะอะไร ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณเจอลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้
5. ทำการวิจัยตลาดแบบเจาะลึก
การวิจัยตลาด (Market Research) อย่างเจาะลึก จะช่วยให้คุณได้รับข้อมูลเชิงคุณภาพที่มีความชัดเจนมากกว่าตัวเลข เมื่อคุณเข้าใจในส่วนนี้แล้ว คุณจะสามารถปรับกลยุทธ์การตลาดให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้นได้ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีเหล่านี้เลย
สร้างแบบสอบถามออนไลน์ เพื่อเก็บข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมาย
การสัมภาษณ์เชิงลึกหรือพูดคุยกับลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าที่มีศักยภาพ
รวบรวมกลุ่มคนที่เป็นตัวแทนของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมอง
6. ใช้ Social Listening Tools ฟังเสียงผู้บริโภค
Social Listening Tools คือเครื่องมือที่จะช่วยให้แบรนด์รู้ว่าผู้บริโภคมีการพูดถึงแบรนด์หรือเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจของคุณอย่างสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างไรบ้าง ซึ่งข้อมูลที่ได้จาก Social Listening จะช่วยให้แบรนด์เข้าใจเข้าใจความต้องการและความคาดหวังของลูกค้า, รู้ว่าสิ่งที่ลูกค้ากังวลคืออะไร, รู้ความคิดเห็นของลูกค้าเกี่ยวกับสินค้า และสามารถใช้ในการติดตามเทรนด์หรือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมได้ด้วย
7. วิเคราะห์คู่แข่งและกลุ่มเป้าหมายของพวกเขา
คู่แข่งที่ทำธุรกิจเดียวกัน มีสินค้าและบริการเหมือนกัน ถือเป็นแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยมในการที่คุณจะเข้าไปศึกษาและวิเคราะห์เกี่ยวกับธุรกิจ กลยุทธ์การตลาด ช่องทางการตลาด จุดอ่อนและจุดแข็ง รวมถึงกลุ่มเป้าหมายของพวกเขา และสามารถใช้ในการหาช่องว่างที่คุณสามารถเติมเต็มได้
8. ใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า
ในปี 2025 เทคโนโลยี AI และ Machine Learning มีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ แพลตฟอร์ม AI สามารถช่วยคุณค้นหาสิ่งที่มีเหมือนกันหรือความเชื่อมโยงที่อาจมองข้ามไปในข้อมูลได้ ทำให้คุณเข้าใจและรู้จักลูกค้ากลุ่มเป้าหมายดีขึ้น เช่น การจัดกลุ่มลูกค้าตามพฤติกรรมการซื้อ, การคาดการณ์แนวโน้มความต้องการในอนาคต, การระบุโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ หรือการวิเคราะห์ความรู้สึกของลูกค้าจากรีวิวและคอมเมนต์
9. วิเคราะห์ผู้ติดตามของ Influencer
Influencer หรือผู้ที่มีอิทธิพลในอุตสาหกรรม มักมีความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับกลุ่มผู้ติดตามของพวกเขา ลองวิเคราะห์ดูว่าอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้กำลังพูดถึงเรื่องอะไร และมีคนกลุ่มไหนบ้างที่ติดตามพวกเขาอยู่ ซึ่งจะช่วยให้คุณเข้าใจแนวโน้มและความสนใจของกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ อันดับแรกให้ตามหาก่อนว่าอินฟลูเอนเซอร์หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมเดียวกับธุรกิจคุณมีใครบ้าง จากนั้นให้ไปวิเคราะห์หัวข้อของคอนเทนต์ ภาษาและโทนที่ใช้ในการสื่อสาร รูปแบบของเนื้อหาที่ได้รับการตอบรับที่ดี และลักษณะของผู้ติดตาม
10. ทดสอบและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
เพราะคุณสามารถเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ได้ทุก ๆ วัน ดังนั้น การค้นหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจึงไม่ใช่สิ่งที่ทำครั้งเดียวจบ บอกเลยว่าครั้งเดียวไม่เพียงพอต่อการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว เพราะเหตุนี้ คุณจึงควรทดสอบและปรุงปรุงแคมเปญอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทดลองใช้แคมเปญการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน, ทดสอบข้อความและภาพประกอบหลาย ๆ แบบ, วัดผลและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ และปรับกลยุทธ์ตามผลลัพธ์ที่ได้อย่างต่อเนื่อง เพิ่มให้แคมเปญมีประสิทธิภาพมากที่สุด